รากฟันเทียม
ข้อมูลเกี่ยวกับ รากฟันเทียม

รากฟันเทียม (Dental Implant)  สิ่งเทียมที่ใช้ทดแทนรากฟันธรรมชาติที่สูญเสียไป โดยฝังลงในกระดูกขากรรไกร เพื่อรองรับฟันเทียมชนิดต่างๆ (เช่น ครอบฟัน สะพานฟัน หรือฟันปลอมทั้งปาก) ซึ่งช่วยในการฟื้นฟูการใช้งานของฟันและเสริมสร้างรอยยิ้มให้กลับมาใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติ

ส่วนประกอบของรากฟันเทียม
1. รากเทียม (Implant Fixture): ส่วนสกรู ฝังยึดลงในกระดูกขากรรไกร ทำหน้าที่เช่นเดียวกับรากฟัน เพื่อรองรับส่วนต่ออื่นๆ วัสดุทำด้วยไทเทียมหรือเซรามิก โดยต้องมีคุณภาพและปริมาณของกระดูกและเหงือกรอบรากเทียมอย่างเพียงพอ ซึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของการใส่รากฟันเทียมในระยะยาว
2. แกนเชื่อมต่อ (Abutment): เป็นส่วนที่เชื่อมระหว่างรากเทียมกับครอบฟัน ทำหน้าที่รองรับและยึดกับส่วนฟันปลอมชนิดต่างๆ
3. ฟันปลอม (Restoration): ส่วนที่ใช้ทนแทนฟันธรรมชาติ เพื่อใช้บดเคี้ยวอาหาร สามารถมองเห็นได้จากในช่องปาก ทำจากเซรามิกหรือวัสดุอื่น ๆ ที่มีสีและรูปร่างใกล้เคียงกับฟันและเหงือกธรรมชาติ

 

ที่ iConic Dental Clinic เรามีทีมทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรากฟันเทียม พร้อมให้คำปรึกษาและวางแผนการรักษาในแต่ละขั้นตอน เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เข้ารับบริการได้รับการดูแลที่ดีที่สุด ตั้งแต่การตรวจสอบความแข็งแรงของกระดูกขากรรไกร ไปจนถึงการติดตั้งครอบฟันหรือสะพานฟันอย่างเหมาะสม ให้ผู้ป่วยสามารถกลับมายิ้มและใช้งานฟันได้อย่างมั่นใจ

ประโยชน์ของรากฟันเทียม
  • รากฟันเทียมมีประโยชน์หลายประการ เช่น:
    • เพิ่มความสามารถในการเคี้ยวอาหาร: ช่วยให้การรับประทานอาหารเป็นเรื่องง่ายขึ้น ใกล้เคียงฟันธรรมชาติ
    • เสริมสร้างรอยยิ้มและความมั่นใจ: ฟื้นฟูรูปลักษณ์และความมั่นใจในตัวเอง
    • ปรับปรุงการพูดและการออกเสียง: ช่วยให้พูดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
    • รักษาสภาพกระดูกขากรรไกร: ลดการสูญเสียมวลกระดูกที่อาจเกิดหลังการสูญเสียฟัน เมื่อเทียบกับฟันปลอมถอดได้
    • ความทนทาน: หากใช้งานและหมั่นดูแลอย่างเหมาะสม สม่ำเสมอ รากฟันเทียมสามารถอยู่ได้ตลอดชีวิต
    • เพิ่มความมั่นคงให้ฟันปลอมหลวม: กรณีที่ใช้รากฟันเทียมเพื่อช่วยยึดเป็นฟันปลอมถอดได้ จะช่วยให้ฟันปลอมติดแน่นยิ่งขึ้น เคี้ยวอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

       รากฟันเทียมยังมีข้อได้เปรียบเหนือสะพานฟัน (Dental Bridge) เนื่องจากไม่จำเป็นต้องกรอฟันธรรมชาติที่อยู่ข้างเคียง

ใครเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมกับรากฟันเทียม?

เหมาะสม:  ผู้ที่อายุมากกว่า 18 ปีและมีกระดูกขากรรไกรเพียงพอ

ไม่เหมาะสม:

  • ผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี (ขากรรไกรยังไม่หยุดเจริญเติบโต)
  • ผู้สูบบุหรี่หรือใช้บุหรี่ไฟฟ้า
  • ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคเหงือกที่ยังไม่ได้รักษา โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ โรคกระดูกพรุนที่ได้รับยา ผู้ที่ได้รับการรังสีรักษาบริเวณกระดูกขากรรไหร หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ค่าบริการ ตรวจสอบราคาที่คลินิก บาท
ให้บริการ ทุกวัน

ขั้นตอนการใส่รากฟันเทียม

  1. การประเมินและวางแผนการรักษา: ตรวจภายในช่องปาก สแกนฟัน หรือพิมพ์ปาก ถ่ายภาพ x-ray และ CT Scan เพื่อประเมินกระดูกบริเวณที่จะฝังรากฟัน และทำการวางแผนการรักษา
  2. การผ่าตัดฝังรากฟันเทียม: ทำการฝังรากเทียมลงในกระดูกขากรรไกร อาจจำเป็นต้องมีการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อเหงือก (Soft tissue grafting) และการปลูกถ่ายกระดูก (Bone Grafting)เพิ่มเติม ซึ่งจำเป็นในกรณีที่กระดูกขากรรไกรบางหรือมีปริมาตรไม่เพียงพอ
  3. การรอให้รากฟันเทียมยึดกับกระดูก: หลังจากฝังรากเทียมในรอกระดูกแล้วจะต้องรอให้กระดูกยึดกับรากเทียม ใช้เวลาประมาณ 2-4 เดือน หากมีการปลูกถ่ายกระดูกอาจใช้เวลานานขึ้นกับความซับซ้อน ในระหว่างนี้อาจใส่ฟันปลอมชั่วคราวขึ้นกับดุลพินิจของทันตแพทย์และความต้องการของผู้ป่วย
  4. การติดตั้งแกนเชื่อมต่อและฟันปลอม

หลังจากกระดูกเชื่อมติดกับรากเทียมดีแล้ว ทันตแพทย์จะติดตั้งแกนเชื่อมต่อและฟันปลอมบนรากฟันเทียม โดยใช้วัสดุสีใกล้เคียงฟันธรรมชาติ สามารถใช้บดเคี้ยวอาหาร และสามารถยิ้มได้อย่างมั่นใจ 

 

เทคโนโลยีรากฟันเทียมในปัจจุบัน

ปัจจุบันรากฟันเทียมได้รับการพัฒนาทั้งในด้านวัสดุ กระบวนการรักษา และเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้ปลอดภัยและรวดเร็วมากขึ้น

หนึ่งในความก้าวหน้าสำคัญคือการใช้ เทคโนโลยี 3D ในการวางแผนการรักษา เช่น การสแกน 3 มิติ (3D Scanning) และการถ่ายภาพเอกซเรย์ 3 มิติ (CBCT) เพื่อประเมินโครงสร้างกระดูกขากรรไกร เส้นประสาท และตำแหน่งโพรงไซนัสอย่างละเอียด ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำมาใช้ร่วมกับ ระบบคอมพิวเตอร์ช่วยผ่าตัด (Computer-Guided Surgery) ช่วยให้การวางตำแหน่งรากฟันเทียมมีความแม่นยำ ลดข้อผิดพลาด และเพิ่มความสำเร็จของการรักษา

ในด้านวัสดุ ไทเทเนียม และ เซรามิก ยังคงเป็นวัสดุหลักที่ได้รับความนิยม เนื่องจากมีความแข็งแรง ทนทาน และเข้ากับร่างกายได้ดี ปัจจุบันยังมีการพัฒนาผิวเคลือบพิเศษเพื่อเร่งกระบวนการเชื่อมต่อระหว่างกระดูกและรากฟันเทียม (Osseointegration) ช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และสำหรับผู้ป่วยที่มีมวลกระดูกขากรรไกรไม่เพียงพอ การปลูกถ่ายกระดูก (Bone Grafting) หรือการใช้วัสดุเสริมสร้างกระดูกเทียมได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

อีกหนึ่งนวัตกรรมที่ช่วยลดระยะเวลาการรักษาคือ รากฟันเทียมแบบทันที (Immediate implant placement and loading) ในกรณีที่กระดูกและเหงือกอยู่ในสภาพสมบูรณ์น หลังจากถอนฟันแล้วสามารถฝังรากเทียมได้ทันที และหากมีความจำเป็นสามารถติดตั้งฟันปลอมชั่วคราวได้ทันทีเช่นกัน เพื่อลดความไม่สะดวกในการใช้งานระหว่างรอการฟื้นตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทันตแพทย์และข้อจำกัดของผู้ป่วยแต่ละราย

 

ระยะเวลาการฟื้นตัว

  • ฟื้นตัวเบื้องต้น: ใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์
  • การสมานกระดูก: ใช้เวลา 2-4 เดือน หรืออาจนานขึ้นถึง 6-9 เดือน ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของการผ่าตัดในตำแหน่งที่ฝังรากเทียมสุขภาพและการหายของแต่ละบุคคล

ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อน

แม้ความเสี่ยงจะต่ำ แต่การทำรากฟันเทียมอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น:

  • การติดเชื้อ
  • อาจเกิดความเสียหายต่อฟันข้างเคียง
  • กระดูกขากรรไกรแตกหรือมีการหายของแผลล่าช้า
  • การบาดเจ็บต่อเส้นประสาท อาจทำให้เกิดอาการชาบริเวณริมฝีปากได้ 
  • มีเลือดออก หากมีการผ่าตัดเป็นบริเวณกว้าง อยู่ใกล้เส้นเลือด หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการมีเลือดออกง่าย หยุดยาก เลือดแข็งตัวช้า มักมีอาการบวม ผิวหนังมีรอยเขียวช้ำร่วมด้วย 
  • การอักเสบ/ติดเชื่อของโพรงไซนัส (กรณีติดตั้งในบริเวณขากรรไกรบน)

 จึงมีความจำเป็นที่ต้องเลือกรับการรักษากับทันตแพทย์ที่มีประสบการณ์ มีความรู้ และมีความนุ่มนวลในการให้การรักษา เพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดความเสี่ยงดังกล่าว

 

การดูแลหลังการรักษารากฟันเทียม

การดูแลหลังการติดตั้งรากฟันเทียมเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพและยืดอายุการใช้งานของรากฟันเทียมให้ยาวนานที่สุด โดยปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้:

  1. การดูแลในช่วงแรกหลังการผ่าตัด
  • ควบคุมการมีเลือดออก: หากมีเลือดออกเล็กน้อย ให้กัดผ้าก๊อซที่ทันตแพทย์ให้มาอย่างนุ่มนวลประมาณ 60 นาที หากเลือดไม่หยุด ควรติดต่อทันตแพทย์ทันที
  • ลดอาการบวม: ใช้การประคบเย็นบริเวณแก้มในช่วง 24-48 ชั่วโมงแรก เพื่อลดอาการบวม
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผล: ไม่ควรสัมผัสแผลด้วยลิ้นหรือมือ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  1. อาหารและเครื่องดื่ม
  • หลีกเลี่ยงของร้อนหลีกเลี่ยงอาหารแข็งหรือเหนียว: ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก ควรรับประทานอาหารอ่อน เช่น ซุป โจ๊ก หรือโยเกิร์ต
  • หลีกเลี่ยงของร้อน: งดดื่มเครื่องดื่มร้อน เช่น กาแฟหรือชา เพราะอาจกระตุ้นการอักเสบของแผล
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่: สิ่งเหล่านี้อาจชะลอการฟื้นตัวและเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  1. การรักษาความสะอาดช่องปาก
  • แปรงฟันเบา ๆ: ใช้แปรงสีฟันขนนุ่มในการทำความสะอาดฟันและเหงือกบริเวณรอบรากฟันเทียม ระมัดระวังอย่าให้กระทบแผล
  • ใช้น้ำยาบ้วนปากฆ่าเชื้อ: หากทันตแพทย์แนะนำ ให้ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ
  • ใช้ไหมขัดฟันหรือแปรงซอกฟัน: ทำความสะอาดระหว่างฟันและบริเวณรากฟันเทียมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการสะสมของคราบจุลินทรีย์
  1. การหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจกระทบแผล
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก: เช่น การยกของหนักหรือการเล่นกีฬาในช่วงแรก เพราะอาจเพิ่มแรงดันในบริเวณแผล
  • งดใช้หลอดดูด: การใช้หลอดดูดอาจสร้างแรงดันในช่องปากและทำให้แผลเปิด
  1. การเข้าพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
  • ตรวจติดตามผล: พบทันตแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจสอบความสมานของกระดูกและความมั่นคงของรากฟันเทียม
  • การรักษาสภาพเหงือกรอบรากเทียมให้อยู่ในสภาพที่ดี: ควรเข้ารับการทำความสะอาดฟัน ขูดหินปูน รักษาโรคเหงือกโดยทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง
  1. การปฏิบัติในระยะยาว
  • ดูแลสุขภาพช่องปากอย่างต่อเนื่อง:แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟัน และรักษาความสะอาดรากฟันเทียมเหมือนฟันธรรมชาติ
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ฟันเสียหาย: เช่น การกัดเล็บ การใช้ฟันเปิดขวด หรือการเคี้ยวอาหารที่แข็งมาก

 

เมื่อใดควรติดต่อทันตแพทย์?

ติดต่อทันตแพทย์ทันทีหากพบปัญหา ดังนี้ 

  • รากฟันเทียมหลวม ขยับ หรือโยก 
  • เหงือกบวม มีเลือดออก หรือมีหนองบริเวณรากฟันเทียม
  • เคี้ยวแล้วเจ็บ ใช้งานแล้วมีอาการผิดปกติไม่เหมือนเดิม

 

สรุป

รากฟันเทียมเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนในการทดแทนฟันที่สูญเสียไป สามารถช่วยฟื้นฟูการบดเคี้ยว การพูด สร้างรอยยิ้มที่มีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น กระบวนการรักษาอาจใช้เวลา แต่ผลลัพธ์ที่ได้คุ้มค่า หากคุณสนใจ แนะนำให้ปรึกษาทันตแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาที่มีความจำเพาะและเหมาะสมสำหรับคุณ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว

ทันตแพทย์บริการด้าน รากฟันเทียม

4
ทพ. จักรพันธุ์ สามไพบูลย์
รากเทียม ผ่าฟันคุด ผ่าตัดขากรรไกร
11
ทพ. วิธวินท์ เดโชศิลป์
รักษาโรคเหงือกและปริทันต์อักเสบ รากเทียม

เลือกภาษา